โปรแกรมประยุกต์สำหรับรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลผ่านตัวรับรู้ต่าง ๆ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาต่อยอด งานวิจัยการพัฒนาระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ผ่านไอโอที ของ รศ. ดร. สินชัย กมลภิวงศ์ และคณะ ที่พัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับการเก็บค่าระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด จากอุปกรณ์ดูแลสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีบลูทูธ เพื่อที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดที่โปรแกรมประยุกต์จากงานวิจัยยังทำงานไม่สมบูรณ์ในส่วนของการรับข้อมูลจากอุปกรณ์วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นที่ผู้ใช้งานโปรแกรมประยุกต์ จะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคในกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยว่าผู้เสียชีวิตจากโรคในกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ 73 ของผู้เสียชีวิตจากโรคภัยทั้งหมด โดยจะใช้ข้อมูลจากการวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ร่วมกับ ประวัติการเป็นโรคต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน ในการวิเคราะห์ โปรแกรมประยุกต์ที่พัฒนาจะเป็นโปรแกรมประยุกต์ที่ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เขียนด้วยภาษาคอทลิน โปรแกรมจะนำข้อมูลมาเก็บไว้ในฐานข้อมูลบนเครื่องแม่ข่าย Firebase Cloud Firestore ก่อนจะข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งวิธีทั่วไป ที่เป็นการจำแนกค่าที่ผู้ใช้วัดเป็นค่าที่อยู่ในเกณฑ์ดี เกณฑ์เสี่ยง และ เกณฑ์อันตราย และ การวิเคราะห์แบบเฉพาะเจาะจง ที่จะใช้กับการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานจะเป็นโรคเบาหวาน โดยใช้ปัจจัยต่าง ๆ หลากหลายปัจจัย และการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ที่ใช้วิธีการวิเคราะห์ของสมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย รวมถึงใช้ข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพประชากรไทยในปี พ.ศ. 2557 มาเป็นข้อมูลประกอบคำแนะนำอีกด้วย โปรแกรมประยุกต์ที่สร้างมาสามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน แต่ด้วยโปรแกรมที่พัฒนาด้วยการเขียนโปรแกรมแบบไม่ประสานเวลาจำนวนมาก รวมถึงการรับส่งข้อมูลกับฐานข้อมูลที่อยู่บนเครื่องแม่ข่ายมากเกินไป ทำให้เสถียรภาพของโปรแกรมไม่ดีเท่าที่ควร จำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อจะนำโปรแกรมประยุกต์นี้ไปใช้งานจริงกับผู้ใช้ได้